ในงาน ISMTEC 2018 ท่านอธิการ เซอร์ฟรังซัวส์ ชีรานนท์ ผู้อำนวยการและคณะครูแผนกปฐมวัย รวมนำเสนอผลงาน E-Poster ในหัวข้อ Elavate KG Teacher, Prepare Kids to be Problem Solvers with Algorithm Unplugged ซึ่งเป็นบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ ส่วนหนึ่งของโครงการบริการวิชาการของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี เขียนโดย มิสปทิตตา ปิยสกุลเสวี ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
นำเสนอโปสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนกว่า 10 หน้าและการจำลองห้องเรียนเสมือนจริง พร้อมนิทรรศการผลงานนักเรียนระดับชั้นปฐมวัย ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ทักษะการคิดแบบอัลกอริทึมอันปลั๊ก ซึ่งเป็นการนำพานักเรียนเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งมีการตอบข้อซักถามจากผู้ที่มาชมซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ทั้งภายในและนอกประเทศไทย ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากมาย
บางส่วนของข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมีดังนี้
โครงการการเรียนการสอนแบบอัลกอริทึมอันปลั๊กในระดับก่อนประถมศึกษาเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยท่านอธิการ เซอร์ ฟรังซัวส ชีรานนท์ ผู้อำนวยการของโรงเรียนฯ มุ่งเน้นให้คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนมุ่งพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในด้านกระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันโดยจัดให้มีการอบรมคุณครูในระดับก่อนประถมศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในทุกๆวันเสาร์ เป็นเวลาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2559 ในการอบรมเหล่านั้นครอบคลุมถึงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และการวัดและประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง การอบรมดังกล่าวส่งผลให้มีการยกระดับการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับก่อนประถมศึกษา มีการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อเดียวกันให้แก่คุณครูระดับก่อนประถมศึกษาจากกว่า 20 โรงเรียนภายในจังหวัดลพบุรีเพื่อยกระดับ คุณภาพการศึกษาของประเทศชาติสืบไป ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการบริการทางวิชาการของโรงเรียนฯ
Algorithm Unplugged หมายถึงขั้นตอนหรือกระบวนการคิดในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้เครื่องมือทางคอมพิวเตอร์จึงมีคำว่าอันปลั๊กต่อท้าย สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุงปี 2560)ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมาระบุให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ประถมศึกษาปีที่สี่ มัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง และมัธยมศึกษาปีที่สี่ ในรูปแบบการเรียนการสอนวิชานี้ความเข้าใจกระบวนการคิดแบบคอมพิวเตอร์ (Computational thinking) เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาอย่างมีหลักการดำเนินการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหา อย่างเป็นขั้นตอนทดลองและแก้ไขปัญหาปรับปรุงกระบวนการสามารถนำมาใช้ซ้ำในการแก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันในอนาคตได้ เช่นกระบวนการในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เป็นต้น คุณครูออกแบบกิจกรรมภายใต้เนื้อหาที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนตามหลักสูตรจนออกมาเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบกระดานเกมส์ซึ่งให้เด็กเด็กจับคู่ โดยคนหนึ่งเป็นหุ่นยนต์ อีกคนหนึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ หุ่นยนต์พูดไม่ได้สามารถเคลื่อนไหวตามคำสั่งของโปรแกรมเมอร์ได้เท่านั้น ส่วนโปรแกรมเมอร์พูดได้เท่านั้นห้ามแสดงท่าทาง จุดมุ่งหมายของเกมคือให้โปรแกรมเมอร์ออกคำสั่งหุ่นยนต์เพื่อไปเก็บสิ่งของต่างๆให้ครบถ้วนจึงจะถือว่าสำเร็จ และนี่คือบางส่วนของการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นณขณะนี้ในห้องเรียนชั้นปฐมวัยโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ลพบุรี
ทั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ ของคณะผู้บริหารครูนักเรียนผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ลพบุรีที่ผลงานของคุณครูและนักเรียนเป็นที่ยอมรับยกย่องเชิดชูจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นที่น่ายินดีว่าลูกหลานของคุณพ่อคุณแม่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพภายใต้การดูแลของโรงเรียนทัดเทียมนานาชาติ
บทความโดย มิสปทิตตา ปิยสกุลเสวี